ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อกภาษาไทย

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ความเป็นมา
บทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ โดยนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาราชวิทยาลัย รุ่นที่ ๔๑
ดูภาพขนาดใหญ่หนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๑๑ หมวกด้วยกัน คือ กลั่นแสงกรองกานท์, เสียงพิณเสียงเลื่อน เสียงเอื้อนเสียงขับ, เรียงร้อยถ้อยดนตรี, ชวนคิดพิจิตรภาษา, นานาโวหาร, คำขานไพรัช, สมบัติภูมิปัญญา, ธาราความคิด, นิทิศบรรณา, สาราจากใจ และมาลัยปกิณกะ
ในหมวด ชวนคิดพิจิตรภาษาเป็นพระราชนิพนธ์บทความและบทอภิปรายรวม ๔ เรื่อง คือ ภาษาไทยกับคนไทย, การใช้สรรพนาม, วิจารณ์คำอธิบายเรื่องนามกิตก์ในไวยากรณ์บาลีและทุกข์ของชาวนาในบทกวี ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ร้อยกรองที่จะนำมาศึกษาในบทเรียนนี้ 



บทวิเคราะห์วิจารณ์
๑)คุณค่าด้านภาษา
กลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้  ด้วย
แสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน คือ
        -ส่วนนำ กล่าวถึงบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
        -เนื้อเรื่อง วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และของหลี่เชินโดยทรงยกเหตุผลต่างๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ เช่น
       
                ...ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆนั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ ลำเลิก” กับใครๆว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆจะเอาอะไรกิน...

                -ส่วนสรุป สรุปความเพียงสั้นๆแต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้ดังความที่ว่า

                ...ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

        สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบวิธีการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน ว่า

                เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน คือ แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร ซึ่งหลี่เชินได้บรรยายภาพที่เห็นเหมือน จิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
        อย่างไรก็ตาม แนวคิดของกวีทั้งสองคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน
               
       ๒)คุณค่าด้านสังคม
        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ จำนวน ๕ บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ สอดคล้องกับบทกวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตของชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลก จะเป็นไทยหรือจีนจะเป็นสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
        ดังนั้นแนวคิดสำคัญของบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี จึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนาและสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ดังความที่ว่า

                ...แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดีแต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

        แม้ว่าในบทความนี้จะไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่แนวคิดของเรื่องที่แจ่มแจ้งและชัดเจนดังที่กล่าวมา ก็มีผลให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา และเล็งเห็นปัญหาต่างๆอันอาจจะนำไปสู่การแสวงหาหนทางแก้ไขในท้ายที่สุด

        พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตาอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูก ข้าว” อันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น