ความหมาย ประพฤติตรงและจริงใจ ไม่คิดคดทรยศ ไม่คดโกงและไม่หลอกลวง
ข้อคิด “ซึ่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”
“ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมของคนดี”
“อย่าทำให้ผู้อื่นหมดความไว้วางใจในตัวเรา”
“สายตาที่สื่อถึงความจริงใจ คือพลังแห่งมิตรภาพ”
ประโยชน์ของการมีความซื่อสัตย์
1.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
2.เป็นคนเปิดเผย จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น
3.เสริมสร้างให้ตัวเองเป็นคนกล้าหาญ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
4.เป็นที่เชื่อถือ และไว้ใจของคนอื่น
5.ชีวิตมีความสุข
โทษของการไม่มีความซื่อสัตย์
1.ชีวิตและหน้าที่การงานไม่ประสบความสำเร็จ
2.ถูกมองเป็นคนขี้โกง ทุจริต ไม่มีระเบียบวินัยต่อตนเองและผู้อื่น
3.ไม่เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น
4.อาจหันไปประกอบอาชีพทุจริต ทำผิดกฎหมาย
เนื้อหาในพระคัมภีร์
“พระองค์ทรงสะสมสติปัญญาไว้ให้คนเที่ยงธรรม พระองค์ทรงเป็นโล่ให้แก่ผู้ที่ดำเนินในความซื่อสัตย์” ( สภษ 2 : 7 )
“อย่าให้ความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์ทอดทิ้งเจ้า จงผูกมันไว้ที่คอของเจ้าจงเขียนมันไว้ที่แผ่นจารึกแห่งหัวใจของเจ้า” ( สภษ 3 : 3 )
“คนที่สัตย์ซื่อในของเล็กน้อยจะสัตย์ซื่อในของมากด้วย และคนที่อสัตย์ในของเล็กน้อย จะอสัตย์ในของมากเช่นกัน” ( ลก 16 : 10 )
“เพราะเรามุ่งที่จะเป็นคนสัตย์ซึ่อ มิใช่เฉพาะแต่ในสายพระเนตรองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ในสายตาของคนทั้งปวงด้วย” ( 2 คร 8 : 21 )
“ต้องเป็นคนเอาการเอางาน ไม่ใส่ร้ายผู้อื่น เป็นคนรู้จักประมาณตน และเป็นคนสัตย์ซึ่อในประการทั้งปวง” ( 1 ทธ 3 : 11 )
“สอนให้เราละทิ้งความอธรรมและโลกีย์ตัณหา และดำเนินชีวิตในยุคนี้อย่างมีสติสัมปชัญญะ สัตย์ซื่อสุจริตและตามคลองธรรม” ( ทต 2 : 12 )
เรื่องสั้นหรือบทความ ผลของความซื่อสัตย์
ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องใช้รองเท้าหุ้มส้น ผูก สีน้ำตาลเพื่อใช้กับเครื่องแบบตรวจการ ได้เข้าไปดูที่ร้านรองเท้ามีชื่อแห่งหนึ่ง พบรองเท้าสีน้ำตาล ผูก แต่เป็นแบบสปอร์ต จึงถามคนขายว่า รองเท้าแบบนี้ใช้กับเครื่องแบบตรวจการได้หรือไม่ เขาบอกว่าใช้ได้ ข้าพเจ้าไม่ทันได้อ่านระเบียบชัดเจนก็นึกว่าคงจะใช้ได้ แต่ใจหนึ่งคิดว่าไปอ่านระเบียบเสียให้แน่นอนก่อน จะได้ไม่เสียเวลาและเงินเปล่า จากนั้นจึงได้ไปดูที่ร้านรองเท้าอีกแห่งหนึ่ง ก็พบรองเท้าสีน้ำตาลแบบเดียวกันนั้นเข้าอีก แต่คนขายพูดคนละอย่างว่า “รองเท้าสีน้ำตามแบบสปอร์ตนี้ ถ้าจะว่ากันตามระเบียบจริง ๆ แล้ว ก็ใช้แต่งกับเครื่องแบบตรวจการไม่ได้ ต้องใช้แบบเรียบ ๆ รองเท้าแบบตรวจการเคยมีจำหน่ายทีนี่ แต่บัดนี้หมดเสียแล้ว” ข้าพเจ้านึกชมคนขายนั้น ที่พูดตามความจริง ก็เลยซื้อรองเท้าคู่นั้น ไม่ใช่เพื่อจะเอามาใช้กับเครื่องแบบตรวจการ แต่ซื้อเพื่อเป็นรางวัลความสุจริตของผู้ชายคนนั้น
มีคนเป็นอันมาก ที่ยอมพูดเท็จเพื่อหากำไรเพียงเล็กน้อย แต่ต้องสูญเสียกำไรมาก ๆ ที่จะได้ภายหลัง คนขายของที่หลอกลวงผู้ซื้อมักตั้งร้านอยู่ไม่รอด หรือไปรอดก็หาทางเจริญไม่ได้
การที่คนยอมพูดเท็จนั้น ก็โดยเหตุสองอย่างคือ โลภหนึ่ง เห็นแก่ตนเองหนึ่ง ความโลภและความเห็นแก่ตนเอง ทำให้คนนั้นขาดความสัตย์สุจริต ถ้าอยู่กับคณะก็ทำให้คณะต้องเสียชื่อเสียง อยู่ในสังคมก็ทำให้สังคมต้องเดือดร้อน ถ้ามีคนอย่างนี้ในชาติมากๆ ก็ทำให้ชาติวุ่นวาย แตกแยก หาสามัคคีมิได้ เบนจามิน แฟรงกลิน ปราชญ์คนสำคัญของอเมริกาให้คำเตือนใจ ที่มีชื่อเสียงมากไว้คำหนึ่งว่า “ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นวิธีการเยี่ยมยอด ”
ท่านผู้อ่านควรยึดเป็นทางปฏิบัติในการดำรงชีวิต จะเห็นว่าได้ผลเกินคาด
พฤติกรรมที่ปรารถนาให้ผู้เรียนปฏิบัติ
+ ฝึกที่จะเป็นคนซื่อตรงต่อตนเอง และผู้อื่นในทุก ๆ เรื่อง
+ กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อยืนยันถึงความซื่อสัตย์ของเราและ
เรียกร้องให้คนรอบข้างเราซื่อสัตย์ด้วย
วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554
วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
บทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ โดยนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาราชวิทยาลัย รุ่นที่ ๔๑
ในหมวด “ชวนคิดพิจิตรภาษา” เป็นพระราชนิพนธ์บทความและบทอภิปรายรวม ๔ เรื่อง คือ ภาษาไทยกับคนไทย, การใช้สรรพนาม, วิจารณ์คำอธิบายเรื่องนามกิตก์ในไวยากรณ์บาลีและทุกข์ของชาวนาในบทกวี ซึ่งเป็นบทวิจารณ์ร้อยกรองที่จะนำมาศึกษาในบทเรียนนี้
บทวิเคราะห์วิจารณ์
๑)คุณค่าด้านภาษา
กลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ด้วย
แสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน คือ
-ส่วนนำ กล่าวถึงบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
-เนื้อเรื่อง วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และของหลี่เชินโดยทรงยกเหตุผลต่างๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ เช่น
“...ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆนั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก” กับใครๆว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆจะเอาอะไรกิน...”
-ส่วนสรุป สรุปความเพียงสั้นๆแต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้ดังความที่ว่า
“...ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป”
สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบวิธีการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน ว่า
“เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง”
บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน คือ แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร ซึ่งหลี่เชินได้บรรยายภาพที่เห็นเหมือน จิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของกวีทั้งสองคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน
๒)คุณค่าด้านสังคม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ จำนวน ๕ บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ สอดคล้องกับบทกวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตของชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลก จะเป็นไทยหรือจีนจะเป็นสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแนวคิดสำคัญของบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี“ จึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนาและสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ดังความที่ว่า
“...แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดีแต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร”
แม้ว่าในบทความนี้จะไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่แนวคิดของเรื่องที่แจ่มแจ้งและชัดเจนดังที่กล่าวมา ก็มีผลให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา และเล็งเห็นปัญหาต่างๆอันอาจจะนำไปสู่การแสวงหาหนทางแก้ไขในท้ายที่สุด
พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตาอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูก “ข้าว” อันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)